งานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน
งานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน
การทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรก
หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง
(๑) สำเนาทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน
(๒) สูติบัตร หรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบสำคัญสุทธิ สำเนาทะเบียนนักเรียน ประกาศนียบัตร หนังสือเดินทาง เป็นต้น ที่แสดงได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน
(๓) หากไม่มีเอกสารตามข้อ (๒) ให้นำเจ้าบ้าน หรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
(๔) กรณีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ให้นำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดามารดามาแสดงด้วย หรือนำใบมรณบัตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ถึงแก่กรรมไปแสดง
(๕) การขอมีบัตรครั้งแรกเมื่ออายุมาก หรือมีอายุเกิน ๒๐ ปี หากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่กำหนดตาม ข้อ ๑ , ๒ และ ๔ ให้นำเจ้าบ้านและพยานบุคคลผู้น่าเชื่อถือไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนและให้การรับรอง
กรณีบัตรเดิมหมดอายุ
เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ ให้นำบัตรใบเดิมมาทำบัตรใหม่ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับ และผู้ถือบัตรสามารถขอทำบัตรใหม่ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุก็ได้ โดยให้ยื่นคำขอภายใน ๖๐ วัน ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุ
กรณีบัตรหายหรือถูกทำลาย
(๑) สำเนาทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน
(๒) เอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ ใบสุทธิ บัตรประกันสังคม หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น
(๓) หากไม่มีเอกสารตามข้อ (๒) ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
กรณีเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุลแล้วต้องเปลี่ยนบัตร
(๑) สำเนาทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน
(๒) บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่ต้องการเปลี่ยน
(๓) หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุลแล้วแต่กรณี
กรณีบัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญ
(๑) สำเนาทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน
(๒) บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่ชำรุด
(๓) เอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่นใบอนุญาตขับขี่ ใบสุทธิ หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น
(๔) หากไม่มีเอกสารตามข้อ (๓) ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง