
ระเบียบกฏหมายที่ใช้ในการรับแจ้งการเกิด รับแจ้งการตาย
พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 |
ระเบียบทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 |
การรับแจ้งการเกิด |
การรับแจ้งการเกิด ข้อ 50 เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการเกิดให้แนะนำผู้แจ้งแจ้งชื่อคนเกิดพร้อมกับการแจ้งการเกิด และพิจารณาด้วยว่าชื่อที่แจ้งนั้นถูกต้องตามหลักการการตั้งชื่อบุคคลหรือไม่ ถ้ายังไม่ถูกต้องก็แนะนำให้ตั้งชื่อเสียใหม่ให้ถูกต้อง ข้อ 51 การรับแจ้งการเกิด กรณีที่ผู้รับแจ้งไม่มีหลักฐานหรือไม่สามารถแสดงหลักฐานประกอบการแจ้งได้ให้นายทะเบียนบันทึกถึงสาเหตุหรือความจำเป็นไว้ และอาจสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รายละเอียดหรือข้อเท็จจริงประกอบการออกสูติบัตรให้มากที่สุด ข้อ 52 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่าคนมีสัญชาติไทยเกิดในบ้านให้ดำเนินการดังนี้ (1) เรียกสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านและบัตรประจำตัวของผู้แจ้งหรือบัตรประจำตัวบิดา มารดา (ถ้ามี) หนังสือรับรองการเกิด (ถ้ามี) แล้วตรวจสอบกับทะเบียนบ้าน (2) ลงรายการในสูติบัตร ทั้ง 3 ตอน (3) เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (4) มอบสูติบัตร ตอนที่ 1 และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง (5) สูติบัตร ตอนที่ 2 รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (1) (6) สูติบัตร ตอนที่ 3 ส่งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ กรณีแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งผู้ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด ให้ดำเนินการดังนี้ (1) รับแจ้งตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134 (3) (2) ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) (3) รวบรวมหลักฐานส่งให้นายทะเบียนอำเภอ ดำเนินการต่อไป (4) นายทะเบียนอำเภอดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (2)-(6) ข้อ 53 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่าคนไม่มีสัญชาติไทยเกิดในบ้าน ให้ดำเนินการตามข้อ 52 วรรคหนึ่ง (1)-(6) เว้นแต่การเพิ่มชื่อคนเกิดให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ของบ้านที่มีคนเกิด ข้อ 54 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนมีสัญชาติไทยเกิดนอกบ้านให้ดำเนินการดังนี้ (1) เรียกบัตรประจำตัวของผู้แจ้ง บัตรประจำตัวของบิดา มารดา (ถ้ามี) (2) ลงรายการในสูติบัตร ทั้ง 3 ตอน (3) เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน (4) มอบสูติบัตร ตอนที่ 1 และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง (5) สูติบัตร ตอนที่ 2 รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (1) (6) สูติบัตร ตอนที่ 3 ส่งหน่วยงานสาธารณสุขใน (7) แนะนำให้ผู้แจ้งดำเนินการแจ้งการย้ายที่อยู่คนเกิดใหม่ไปยังภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยต่อไป กรณีแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งผู้ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด ให้ดำเนินการดังนี้ (1) รับแจ้งตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134 (3) (2) ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) (3) รวบรวมหลักฐานส่งให้นายทะเบียนอำเภอ ดำเนินการต่อไป (4) นายทะเบียนอำเภอดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (2)-(7) ข้อ 55 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่าคนไม่มีสัญชาติไทยเกิดนอกบ้าน ให้ดำเนินการตามข้อ 54 วรรคหนึ่ง (1)-(7) กรณีบิดาหรือมารดามีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ให้แนะนำผู้แจ้งดำเนินการแจ้งการย้ายที่อยู่คนเกิดใหม่ไปยังภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยของบิดาหรือมารดา ข้อ 56 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนเกิดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลให้ดำเนินการตามข้อ 52 วรรคหนึ่ง (1)-(6) เว้นแต่การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้ดำเนินการดังนี้ คนในท้องที่ ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) หรือทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ของบิดามารดา หากบิดา มารดาไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน คนต่างท้องที่ ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.14) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.13) ของสำนักทะเบียนแล้วแต่กรณีแล้วให้แนะนำผู้แจ้งดำเนินการย้ายที่อยู่คนเกิดใหม่ไปยังภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยต่อไป ข้อ 57 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเกินกำหนดของคนมีสัญชาติไทย ให้ดำเนินการดังนี้ (1) เปรียบเทียบคดีความผิด (2) ตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้ง สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน บัตรประจำตัวบิดามารดา (ถ้ามี) หนังสือรับรองการเกิด (ถ้ามี) (3) สอบสวนผู้แจ้ง บิดา มารดา ให้ทราบสาเหตุที่ไม่แจ้งการเกิดภายในกำหนด กรณีบิดาหรือมารดาไม่อาจมาให้ถ้อยคำในการสอบสวนได้ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ให้นายทะเบียนบันทึกถึงสาเหตุดังกล่าวด้วย (4) รวบรวมหลักฐานและเลขคดีพร้อมด้วยความเห็นของนายทะเบียนเสนอนายอำเภอท้องที่พิจารณา (5) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการรับแจ้งการเกิด ตามข้อ 52 หรือข้อ 54 แล้วแต่กรณี การรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเด็กที่จะแจ้งการเกิดมีอายุต่ำกว่า 7 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุอันควรสงสัยเรื่องสัญชาติของเด็กที่จะแจ้งการเกิด ให้นายทะเบียนรวบรวมหลักฐานเสนอขอความเห็นชอบจากนายอำเภอท้องที่ก่อนพิจารณาอนุญาต (เพิ่มความตามข้อ 57 วรรคสอง โดยข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (ฉ.4) พ.ศ.2545) ข้อ 58 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเกินกำหนดสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ให้ดำเนินการตามข้อ 57 เว้นแต่การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้ดำเนินการตามข้อ 53 หรือข้อ 55 แล้วแต่กรณี ข้อ 58 ทวิ การรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดตามข้อ 57 และข้อ 58 ของบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ให้นายทะเบียนเรียกรูปถ่ายของบุคคลที่ขอแจ้งการเกิดจากผู้แจ้ง จำนวน 1 รูป และบันทีกข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ขอแจ้งการเกิด ผู้แจ้ง และพยานบุคคลที่ให้การรับรอง รวมทั้งให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในแบบ ท.ร.25 ต่อหน้านายทะเบียนแล้วเสนอนายอำเภอท้องที่พร้อมหลักฐานอื่นเพื่อพิจารณา เมื่อนายทะเบียนได้ดำเนินการรับแจ้งการเกิดแล้วให้ส่งแบบ ท.ร.25 รายงานไปยังสำนักทะเบียนกลางภายใน 5 วัน เพื่อจัดเก็บข้อมูลตามวิธีการที่สำนักทะเบียนกลางกำหนด และเมื่อสำนักทะเบียนได้รับ แบบ ท.ร.25 ดังกล่าวกลับคืนแล้ว ให้ดำเนินการจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัยอย่างเป็นระบบ สามารถตรวจสอบหรือค้นหาได้ง่าย (เพิ่มความตามข้อ 58 โดยข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (ฉ.4) พ.ศ.2545) ข้อ 59 เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กอ่อนซึ่งถูกทอดทิ้ง เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับตัวเด็กไว้ ให้บันทึกการรับตัวเด็กตามแบบบันทึกแจ้งความแล้วแต่กรณีไว้เป็นหลักฐานแล้วให้ส่งตัวเด็กพร้อมหลักฐานการบันทึกการรับตัวเด็กให้เจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์แห่งท้องที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์แห่งท้องที่ได้รับตัวเด็กไว้แล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่สถานสงเคราะห์ตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนดำเนินการดังนี้ (1) เรียกบัตรประจำตัวผู้แจ้ง สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของสถานสงเคราะห์และบันทึกการับตัวเด็ก (2) สอบสวนผู้แจ้งและผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ให้ได้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเด็กให้มากที่สุด (3) รวบรวมหลักฐานพร้อมด้วยความเห็นของนายทะเบียนเสนอนายอำเภอท้องที่พิจารณา (4) เมื่อนายทะเบียนอำเภอท้องที่ที่พิจารณาอนุมัติแล้วให้นายทะเบียนดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการรับแจ้งการเกิดตามข้อ 52 ข้อ 60 การแจ้งเกิดตามข้อ 59 ให้นายทะเบียนลงรายการของเด็กตามข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถจะทราบได้ รายการใดไม่ทราบให้ทำเครื่องหมาย " - " ไว้ ข้อ 60/1 สูติบัตร ตอนที่ 2 ที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้จัดทำขึ้นตามระเบียบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารหรือข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ให้สำนักทะเบียนจัดเก็บไว้เป็นทะเบียนคนเกิดของสำนักทะเบียน ข้อ 60/2 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดหรือรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดของผู้ใดแล้ว ให้ออกบัตรทะเบียนคนเกิดตามแบบ ท.ร.26 ตอนที่ 1 มอบให้ผู้แจ้งพร้อมกับสูติบัตรเพื่อใช้เป็นหลักฐานประจำตัวผู้ที่ได้รับแจ้งการเกิด โดยนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจะต้องจัดทำทะเบียนคุมการออกบัตร ท.ร.26 ให้ถูกต้อง และให้ผู้แจ้งลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับบัตร ท.ร.26 ในทะเบียนคุมทุกรายให้ชัดเจน ส่วน ท.ร.26 ตอนที่ 2 ให้รายงานไปพร้อมกับสูติบัตร ตอนที่ 2 ข้อ 60/3 กรณีบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีความประสงค์จะขอบัตรทะเบียนคนเกิดให้แก่บุตรหรือผู้อยู่ในปกครอง แล้วแต่กรณี ที่ได้แจ้งการเกิดและมีชื่อในทะเบียนบ้านก่อนที่จะมีการจัดทำบัตรทะเบียนคนเกิดตามระเบียบนี้ หรือขอมีบัตรทะเบียนคนเกิดใหม่แทนฉบับเดิมที่สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนแห่งท้องที่เด็กมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และเมื่อได้รับคำร้องแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการดังนี้ (1) เรียกและตรวจสอบบัตรประจำตัวของผู้แจ้ง สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เด็กมีชื่อและรายการบุคคล สูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนคนเกิดของเด็กที่จะขอบัตร ท.ร.26 (2) กรณีบัตรทะเบียนคนเกิดสูญหายหรือถูกทำลายให้นายทะเบียนรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรสูญหายหรือถูกทำลาย และตรวจสอบรายการในทะเบียนคุมการออกบัตร ท.ร.26 หรือฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร (3) กรณีชำรุดในสาระสำคัญ ให้เรียกบัตร ท.ร.26 ชำรุดฯ คืนจากผู้แจ้ง และตรวจสอบรายการในทะเบียนคุมการออกบัตร ท.ร.26 หรือฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร (4) เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นอนุญาต ให้ดำเนินการออกบัตร ท.ร.26 ให้กับผู้แจ้ง โดยการลงรายการในบัตร ท.ร.26 ให้คัดลอก หรือพิมพ์ข้อความตามรายการที่ปรากฎในทะเบียนคนเกิด (สูติบัตร ตอนที่ 2) ทั้งนี้ในกรณีการออกบัตรท.ร.26 ให้คัดลอกหรือพิมพ์ข้อความตามรายการที่ปรากฎในทะเบียนคนเกิด (สูติบัตร ตอนที่ 2) ทั้งนี้ในกรณีการออกบัตร ท.ร.26 แทนฉบับเดิมที่สูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดฯ ให้ระบุข้อความแทนว่า "ใบแทน" ไว้ด้านหน้าของบัตร ท.ร.26 ด้วย (5) ลงทะเบียนคุมการออกบัตร ท.ร.26 ตามข้อ 60/2 และมอบบัตร ท.ร.26 ให้ผู้แจ้ง (6) ส่ง ท.ร.26 ตอนที่ 2 รายงานไปพร้อมกับสูติบัตร ตอนที่ 2 ข้อ 60/4 การจัดทำบัตรทะเบียนคนเกิดตามข้อ 60/2 และข้อ 60/3 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการออกบัตร ท.ร.26 ให้แก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุก่อนสิบห้าปีบริบูรณ์เท่านั้น การจัดทำบัตรทะเบียนคนเกิดสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกินหนึ่งปี ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือเด็กในบัตรและให้นายทะเบียนแจ้งต่อผู้ที่แจ้งการเกิดให้ขอเปลี่ยนบัตรทะเบียนคนเกิดเมื่อเด็กมีอายุครบหนึ่งปีบริบูรณ์ (เพิ่มความตามข้อ 60/1 ถึงข้อ 60/4 โดยข้อ 5 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (ฉ.4) พ.ศ.2545) |
การรับแจ้งการตาย มาตรา 21 เมื่อมีคนตายให้แจ้งการตายดังต่อไปนี้ (1) คนตายในบ้านให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนตายภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย ในกรณีไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพแจ้งภายในยี่สิบชั่วโมงนับแต่เวลาพบศพ (2) คนตายนอกบ้าน ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือพบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพแล้วแต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ ในกรณีเช่นนี้จะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้ กำหนดเวลาให้แจ้งตาม (1) และ (2) ถ้าในท้องที่ใดการคมนาคมไม่สะดวก ผู้อำนวยการทะเบียนกลางอาจขยายเวลาออกไปตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ การแจ้งตาม (1) และ (2) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อผู้แจ้งด้วย มาตรา 22 เมื่อมีการแจ้งตามมาตรา 21 ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกมรณบัตรเป็นหลักฐานให้แก่ผู้แจ้ง เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 25 มาตรา 23 เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 21 มาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ฝัง เผา ทำลาย หรือย้าย ศพ ไปจากสถานที่หรือบ้านที่มีการตาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนผู้รับแจ้ง เมื่อได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้เก็บ ฝัง เผา ทำลายหรือย้ายศพผิดไปจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องย้ายศพเพื่อความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจกระทำได้ มาตรา 25 ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายด้วยโรคติดต่ออันตราย หรือตายโดยผิดธรรมชาติให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และให้รอการออกมรณบัตรไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าว มาตรา 26 ให้นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดทำทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย จากสูติบัตรและมรณบัตร ตามแบบพิมพ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด มาตรา 27 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย หรือสูติบัตรและมรณบัตรให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด มาตรา 28 ให้กงสุลไทยหรือข้าราชการสถานทูตไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียน มีหน้าที่รับจดทะเบียนคนเกิดและคนตายที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักรสำหรับคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หลักฐานการจดทะเบียนดังกล่าวให้ใช้เป็นสูติบัตรและมรณบัตรได้ ถ้าในที่ซึ่งมีการเกิดหรือการตายตามวรรคหนึ่ง ไม่มีกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยประจำอยู่ให้ใช้หลักฐานการเกิดหรือการตายที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แปลและรับรองว่าถูกต้องเป็นหลักฐานสูติบัตรและมรณบัตรได้ การจดทะเบียนคนเกิดและคนตายวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง |
การรับแจ้งการตาย ข้อ 61 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนในท้องที่ตายในบ้านให้ดำเนินการดังนี้ (1) เรียกและตรวจสอบบัตรประจำตัวของผู้แจ้ง หนังสือรับรองการตาย (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนตายมีชื่อและรายการบุคคล (ถ้ามี) (2) ลงรายการในมรณบัตร ทั้ง 3 ตอน (3) จำหน่ายรายการคนตายในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน โดยประทับตราคำว่า "ตาย" สีแดงไว้หน้ารายการคนตาย (4) มอบมรณบัตร ตอนที่ 1 และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง (5) มรณบัตร ตอนที่ 2 รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (2) (6) มรณบัตร ตอนที่ 3 ส่งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ กรณีแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนบ้านกลางกำหนด ให้ดำเนินการดังนี้ (1) รับแจ้งตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134 (8) (2) ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และมอบหลักฐานการรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งไว้ (3) นายทะเบียนอำเภอดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (2)-(6) ข้อ 62 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนต่างท้องที่ตายในบ้านให้ดำเนินการดังนี้ (1) ดำเนินการตามข้อ 61 และให้ระบุในมรณบัตรด้านบนซ้ายว่า "คนต่างท้องที่" (2) ส่งมรณบัตร ตอนที่ 2 ไปยังสำนักทะเบียนคนตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (3) เมื่อได้รับตอบรับมรณบัตร ตอนที่ 2 จากสำนักทะเบียนกลางแล้วจะจัดส่งมรณบัตร ตอนที่ 3 ไปยังหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ (4) กรณีไม่ทราบว่าคนตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของสำนักทะเบียนใดให้ส่งมรณบัตร ตอนที่ 2 ไปยังสำนักทะเบียนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป เมื่อสำนักทะเบียนที่คนตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้รับมรณบัตร ตอนที่ 2 ให้ดำเนินการดังนี้ (1) ตรวจสอบรายการคนที่ตายกับทะเบียนบ้าน หากพบว่าการลงรายการในมรณบัตร ตอนที่ 2 ยังไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องให้ลงรายการเพิ่มเติมหรือแก้ไขให้ถูกต้อง (2) จำหน่ายรายการคนตายในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (3) ส่งมรณบัตร ตอนที่ 2 ไปยังสำนักทะเบียนกลางตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (2) (4) กรณีที่เจ้าบ้านนำมรณบัตร ตอนที่ 1 มายื่นขอจำหน่ายรายการคนตายในทะเบียนบ้านให้ดำเนินการตาม (1)-(2) โดยอนุโลม ข้อ 63 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนตายนอกบ้านให้ดำเนินการตามข้อ 61 หรือข้อ 62 แล้วแต่กรณี ข้อ 64 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการตายของคนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือไม่ทราบภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน ให้ส่งมรณบัตร ตอนที่ 2 ไปยังสำนักทะเบียนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป กรณีที่คนตายมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านกลาง ให้จำหน่ายในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน ข้อ 65 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนตายและไม่ทราบว่าคนตายเป็นใคร ให้ออกใบรับแจ้งการตายให้ผู้แจ้งโดยรอการออกมรณบัตรไว้จนกว่าจะทราบว่าผู้ตายเป็นใคร จึงจะดำเนินการออกมรณบัตรต่อไป โดยถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรับแจ้งการตาย ข้อ 66 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งโดยมีเหตุเชื่อว่ามีการตายแต่ยังไม่พบศพ ให้ดำเนินการดังนี้ (1) เรียกและตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้ง (2) สอบสวนให้ทราบถึงมูลเหตุที่เชื่อว่าได้มีการตายของบุคคล (3) ออกหลักฐานใบรับแจ้งการตายมอบให้ผู้แจ้ง (4) กรณีบุคคลดังกล่าวมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตสำนักทะเบียน ให้หมายเหตุการจำหน่ายในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านว่า "รับแจ้งการตายไว้แต่ยังไม่พบศพ" ถ้าต่างสำนักทะเบียนให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักทะเบียนที่บุคคลดังกล่าวมีชื่อในทะเบียนบ้านเพื่อดำเนินการต่อไป (5) รายงานการจำหน่ายตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (4) หากไม่ทราบที่อยู่ให้หมายเหตุในหลักฐานการรายงานด้วย ข้อ 67 กรณีไม่ทราบท้องที่ที่ตาย ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่พบศพหรือแห่งท้องที่ที่มีมูลเหตุเชื่อว่ามีการตายเป็นผู้รับแจ้งการตาย ข้อ 68 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนตายโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือตายโดยผิดธรรมชาติ ให้ออกใบรับแจ้งการตายเป็นหลักฐานให้แก่ผู้แจ้งและรีบแจ้งไปยังพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงจะออกมรณบัตรให้ ข้อ 69 เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการตาย ให้สอบถามรายละเอียดจากผู้แจ้งว่าศพจะเก็บ ฝัง เผา ทำลาย หรือย้ายศพ ณ สถานที่ใด เมื่อใด แล้วให้ลงรายการในใบรับแจ้งการตายหรือมรณบัตร แล้วแต่กรณีและให้ใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการอนุญาตในการเก็บ ฝัง เผา ทำลาย หรือย้ายศพ หากจะเปลี่ยนแปลงการจัดการศพผิดไปจากที่แจ้งไว้เดิม ถ้าศพนั้นอยู่ในท้องที่ใดให้แจ้งขออนุญาตต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่นั้น โดยให้เรียกมรณบัตร หรือใบรับแจ้งการตายจากผู้แจ้งแล้วบันทึกการอนุญาตไว้ ข้อ 70 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ได้รับแจ้งการตายเกินกำหนด ให้ดำเนินการ ดังนี้ กรณีคนในท้องที่ (1) เปรียบเทียบคดีความผิด (2) เรียกและตรวจสอบบัตรประจำตัวของผู้แจ้ง หนังสือรับรองการตาย (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนตายมีชื่อและรายการบุคคล (ถ้ามี) (3) สอบสวนผู้แจ้งให้ทราบถึงสาเหตุที่ไม่แจ้งการตายภายในกำหนดและพยานรู้เห็นการตาย (4) ลงรายการในมรณบัตรทั้ง 3 ตอน และให้ระบุในมรณบัตรด้านบนซ้าย "เกินกำหนด" (5) จำหน่ายรายการคนตายในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนฉบับเจ้าบ้าน โดยประทับคำว่า "ตาย" สีแดงไว้หน้ารายการคนตาย (6) มอบมรณบัตร ตอนที่ 1 พร้อมหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง (7) มรณบัตร ตอนที่ 2 รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (2) (8) มรณบัตร ตอนที่ 3 ส่งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ กรณีคนต่างท้องที่ (1) ให้ดำเนินการตามวรรคสอง โดยอนุโลม เว้นแต่การจำหน่ายรายการคนตายในทะเบียนบ้าน (2) ส่งมรณบัตร ตอนที่ 2 ไปยังสำนักทะเบียนที่คนตายมีชื่อในทะเบียนบ้านเพื่อจำหน่ายต่อไป (3) กรณีไม่ทราบว่าคนตายมีชื่อในทะเบียนบ้านของสำนักทะเบียนใดให้ส่งมรณบัตร ตอนที่ 2 ไปยังสำนักทะเบียนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป ข้อ 71 การรับแจ้งการตายของบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราวหรือเข้าเมือง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง รวมทั้งบุตรของบุคคลดังกล่าวให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับบุคคลสัญชาติไทยหรือบุคคลต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยอนุโลม ข้อ 71/1 มรณบัตร ตอนที่ 2 นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้จัดทำขึ้นตามระเบียบนี้ไม่ว่าจะเป็นเอกสารหรือข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ให้สำนักทะเบียนจัดเก็บไว้เป็นทะเบียนคนตายของสำนักทะเบียน (เพิ่มความตามข้อ 71/1 โดยข้อ 6 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (ฉ.4) พ.ศ.2545) |